Sign In Sign In Test drive Test drive Products according to use Products according to use Dealer Dealer Loan Calculator Loan Calculator
Back

News

Corporate News

สยามคูโบต้า ดันวิสาหกิจชุมชนฯ ตำบลผักไหม จังหวัดศรีสะเกษ เปิดตัว “ผักไหมฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน เตรียมปักหมุดเดินหน้าเป็น Smart Farming Model แห่งใหม่ของภาคอีสาน

สยามคูโบต้า ดันวิสาหกิจชุมชนฯ ตำบลผักไหม จังหวัดศรีสะเกษ เปิดตัว “ผักไหมฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน เตรียมปักหมุดเดินหน้าเป็น Smart Farming Model แห่งใหม่ของภาคอีสาน

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม ต่อยอดความก้าวหน้าของศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า (SKCE) เปิดตัว “ผักไหมฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน เตรียมเดินหน้าเป็น Smart Faming Model ศูนย์กลางการบริหารจัดการฟาร์มที่ชูจุดเด่นของชุมชนด้านศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พืชหลังนา เกษตรทฤษฎีใหม่ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ผนวกจุดแข็งขององค์ความรู้โซลูชันด้านนวัตกรรมการเพาะปลูก และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยของกลุ่มวิสาหกิจฯ มาปรับใช้ภายในฟาร์มตลอด 6 โซนการเรียนรู้ บนพื้นที่ 5 ไร่ พร้อมตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดไปสู่ชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเกษตรกรที่สนใจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการเกษตรไทย

 .

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะประธานเปิดงานกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สยามคูโบต้าได้นำองค์ความรู้มาพัฒนาให้แก่วิสาหกิจชุมชนฯ ผักไหม จนกลายเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีศักยภาพ และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการทำเกษตรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังมีการปรับตัวให้ทันต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของพี่น้องชาวศรีสะเกษด้วย สำหรับจังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่เกษตรกรรม 3.7 ล้านไร่ คิดเป็น 67 % ของพื้นที่ทั้งหมด เรามีนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตรของจังหวัดในมิติต่างๆ อาทิ การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่การสร้างศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก โครงการ Smart Farming รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ซึ่งจังหวัด  ศรีสะเกษก็พร้อมให้การสนับสนุนโครงการเพื่อสร้างโอกาสและความยั่งยืนแก่พี่น้องเกษตรกร

 .

นายจูนจิ โอตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นของสยามคูโบต้าที่มีแนวคิดให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้มั่นคง เราจึงเข้าไปร่วมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่มีจุดเด่นและศักยภาพในการต่อยอดมาเข้าร่วม “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” เพื่อสร้าง “ชุมชนต้นแบบ” ทางการเกษตรที่มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสยามคูโบต้าได้เริ่มเส้นทางการพัฒนาร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม จังหวัดศรีสะเกษ ก่อตั้ง โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า -ผักไหม ในปี 2554 โดยเริ่มจากการเข้าไปให้องค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง อาทิ การทำเกษตรปลอดการเผา การปลูกพืชหลังนา จนเข้าสู่ระยะเสริมความแข็งแกร่งได้มีการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตร รวมถึงโซลูชันต่างๆ เข้าไปพัฒนา อาทิ เกษตรครบวงจร (KUBOTA (Agri) Solutions) หรือ KAS ปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar Online ที่ช่วยให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตทั้งคุณภาพและปริมาณ ลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันแปรของภัยธรรมชาติ และท้ายที่สุดคือการพัฒนาเป็นกลุ่มต้นแบบ Smart Farming Model ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีการทำเกษตรที่สามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้เกษตรกรและผู้สนใจ

อย่างไรก็ตาม สยามคูโบต้าพร้อมร่วมต่อยอดให้ผักไหมฟาร์มเป็นพื้นที่สร้างประโยชน์และแรงบันดาลใจไปยังพี่น้องเกษตรกรและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น พร้อมเผชิญความท้าทายอย่างเข้มแข็ง สร้างอาชีพและรายได้ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการเกษตรไทย

 .

นายไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2554 ที่สยามคูโบต้าได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการให้แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและมูลค่าสินค้า วิธีการทำตลาด ตลอดจนพัฒนาบุคลากรในชุมชนจนสามารถจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – ผักไหม ให้เป็นพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรกรและผู้ที่สนใจจนถึงวันนี้แล้วกว่า 10,000 คน จนถึงวันนี้สมาชิกเกษตรกรผักไหมได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ105 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ในมาตรฐานอินทรีย์ อีกทั้งยังมีการปลูกพืชหลังนา ได้แก่ ถั่วเขียว ปอเทือง กระเจี๊ยบแดง โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่ได้รับมาตรฐานแฟร์เทรด พร้อมทั้งนำผลผลิตต่าง ๆ มาแปรรูปเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้เพิ่ม

วันนี้เราได้พัฒนาไปอีกขั้นกับการเป็น “ผักไหมฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน ต้นแบบ Smart Farming Model ที่นำ “จุดแข็ง” ของพื้นที่และน้อมนำพระราชดำริฯ แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ภายใต้ 6 โซนการเรียนรู้ ได้แก่ โซนพืชผัก โซนข้าวและพืชหมุนเวียน โซนสระน้ำเพื่อการเกษตร โซนพืชผสมผสานสร้างรายได้ โซนโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร และโซนแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ในวันนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญของเกษตรกรชาวผักไหมในการพัฒนาชุมชนและฟาร์มให้ดีขึ้น พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ไปยังชุมชนอื่น ๆ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่อาชีพเกษตรกรของเรา

.

สำหรับพื้นที่ภายในผักไหมฟาร์มมีทั้งหมด 5 ไร่  แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่

  1. โซนพืชผัก ศึกษาระบบการเพาะปลูกพืชผักมูลค่าสูงและผักสวนครัวให้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน โดยพืชที่ปลูกได้แก่ กรีนโอ๊ค บัดเตอร์เฮด กะเพรา แมงลัก โหระพา แตงกวา ถั่วฝักยาว สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปีเฉลี่ย 10,000 บาท/ ปี
  2. โซนข้าวและพืชหมุนเวียน ศึกษาระบบการเพาะปลูกข้าวด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง โดยใช้เครื่องจักรกลเกษตร คูโบต้าตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมดินจนถึงขั้นตอนเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ยังปลูกพืชหมุนเวียนด้วยพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมเน้นการทำเกษตรเพื่อเข้าสู่การเป็น Net Zero Emission สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 44,700 บาท/ พื้นที่ 2.2 ไร่
  3. โซนสระน้ำเพื่อการเกษตร กักเก็บน้ำในฤดูฝนเพื่อนำมาใช้ในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง สามารถกักเก็บน้ำได้ ประมาณ 3,700 ลบ.ม. พื้นที่เก็บน้ำ 1.5 งาน นอกจากนี้ยังสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลา 1,000 -2,000 บาท/ 1 ฤดูกาลปลูกข้าว
  4. โซนพืชผสมผสานสร้างรายได้ เน้นการปลูกพืชหลากหลาย และใช้พื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพ โดยทำการศึกษาระบบการเพาะปลูกพืชที่เกื้อกูล ได้แก่ ไม้ผล พืชไร่ และสมุนไพร ที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีการให้น้ำด้วยระบบ IoT และนำเครื่องจักรกลเกษตรคูโบต้าเข้ามาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนแรงงาน สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 70,300 บาท/ ปี
  5. โซนโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร ใช้โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานทดแทนในการดึงน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินมากักเก็บในถังพักน้ำขนาด 50,000 ลบ.ม. เพื่อบริหารจัดการในฟาร์มสำหรับใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศในฟาร์ม มุ่งสู่การเป็นพลังงานสะอาด (Green Energy)
  6. โซนแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตโดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสินค้าชุมชน อาทิ แครกเกอร์แป้งข้าว แยมกระเจี๊ยบ ข้าวสาร สบู่น้ำนมข้าว เป็นต้น ช่วยสร้างงานให้คนในชุมชน และสร้างได้รายเฉลี่ย 300,000 บาท/ ปี

สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ จะมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรที่เหมาะสมมาติดตั้งเพิ่มเติม รวมถึงตั้งเป้าขยายการเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

.

ผักไหมฟาร์ม ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน พร้อมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พืชหลังนา เกษตรทฤษฎีใหม่ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ด้วยองค์ความรู้ด้านโซลูชันด้านนวัตกรรมการเพาะปลูก และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรพร้อมถ่ายทอดไปยังเกษตรกรและผู้สนใจทั่วประเทศแล้ววันนี้ ณ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหมตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.

 .

สนใจเยี่ยมชม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ :

คุณรุ้ง- สุนิสา สง่างาม โทรศัพท์ 086 248 0637

Facebook : ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนผักไหม www.facebook.com/phakmaiorganicfarm/