Article
เทคนิคการดูแลรักษาเครื่องยนต์ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
เทคนิคการดูแลรักษาเครื่องยนต์ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
สำหรับพี่ ๆ เพื่อน ๆ เกษตรกรท่านไหนที่ใช้งานเครื่องยนต์คูโบต้ามาได้สักพักแล้ว รู้สึกว่าเครื่องยนต์ไม่ค่อยมีกำลัง แรงม้าเริ่มตก นั่นเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาที่พี่ ๆ จะต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกันแล้วครับ สำหรับการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องก็ง่ายนิดเดียว พี่ ๆ ก็สามารถทำเองได้ที่บ้าน น้องคูโบแมนมีวิธีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องมาฝาก จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เราไปดูกันเลยครับ
ทำไมต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
เนื่องจากในน้ำมันเครื่องมีสารเคลือบในการหล่อลื่น ช่วยให้ลูกสูบและปลอกแหวนลดการเสียดสี หากไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันตามเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ชุดลูกสูบและปลอกแหวนสึกไว กำลังอัดเครื่องยนต์ไม่ดี ส่งผลให้แรงม้าตก ทำงานแล้วเครื่องไม่มีกำลัง
การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
สำหรับรถใหม่ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หลังจากใช้งานครบ 50 ชั่วโมง และครั้งต่อไป ควรเปลี่ยนทุก ๆ 100 ชั่วโมง เพื่อยืดอายุการใช้งานของชุดกำลังอัด ลูกสูบ และปลอกแหวน
ขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
- สตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ 5 นาที ในรอบต่ำ จากนั้นดับเครื่อง
- ใช้ประแจเบอร์ 17 ขันน็อตไส้กรองน้ำมันออก เพื่อถ่ายน้ำมันเครื่องออกจนหมด
- ล้างไส้กรองน้ำมันเครื่องด้วยน้ำมันโซล่า โดยการเขย่าและใช้แปรงขัดรอบไส้กรอง แช่ทิ้งไว้สักพักแล้วประกอบกลับเข้าที่เดิม จากนั้นขันน็อตให้แน่น ตึงมือหรือหมุนไปต่อไม่ได้
- เติมน้ำมันเครื่องตราช้าง SAE40 ตรงจุดเติมน้ำมัน โดยปริมาณน้ำมันที่เติมไม่ควรเกินจากช่วงระยะที่กำหนด คือ ไม่เกินขีดบน และไม่ต่ำกว่าขีดล่างของก้านวัด
วิธีการวัดระดับน้ำมันเครื่อง
เครื่องยนต์ต้องอยู่แนวขนานกับพื้น โดยแทงก้านวัดลงไปในตำแหน่งเดิม แล้วดึงก้านวัดออกมา เพื่อเช็คระดับน้ำมันเครื่อง โดยระดับน้ำมันเครื่องต้องไม่เกินขีดบน และไม่ต่ำกว่าขีดล่างของแท่งวัดเสมอ หรือใช้น้ำมันประมาณ 2.7 ลิตร
ขั้นตอนมีเพียงเท่านี้ พี่ ๆ ก็สามารถเปลี่ยนน้ำมันเครื่องยนต์ด้วยตัวเองได้แล้ว อย่าลืมนะครับ! เมื่อใช้งานเครื่องยนต์ครบตามชั่วโมงที่กำหนดแล้ว การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องจะช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ไปอีกนาน ๆ
สำหรับพี่ ๆ ที่สนใจเทคนิคการดูแลรักษาเครื่องยนต์หัวข้ออื่น ๆ สามารถศึกษาได้ที่ฟังก์ชันในแอปพลิเคชัน Kubota Smart >> เลือก “เครื่องยนต์&รถไถ” และดูหัวข้อที่สนใจอื่น ๆ แล้วพบกันใหม่ในหัวข้อ เทคนิคการบำรุงรักษากรองอากาศ นะครับ