เข้าสู่ระบบ เข้าสู่ระบบ ทดลองขับ ทดลองขับ สินค้าตามการใช้งาน สินค้าตามการใช้งาน ผู้แทนจำหน่าย ผู้แทนจำหน่าย คำนวนสินเชื่อ คำนวนสินเชื่อ
กลับ

สาระความรู้

4 เทคนิคในการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มอย่างปลอดภัย

4 เทคนิคในการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มอย่างปลอดภัย

4 เทคนิคในการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มอย่างปลอดภัย

แทรกเตอร์ติดหล่ม ! ในฤดูกาลทำงาน หลายคนน่าจะพบกับปัญหาแทรกเตอร์ติดหล่มกันมาไม่มาก ก็น้อย บางคนอาจมีวิธีการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพหน้างานที่พบเจอ แต่รู้หรือไม่ ว่าการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มบางวิธีอาจส่งผลให้ชิ้นส่วนภายในแทรกเตอร์รับภาระหนักได้

วันนี้คูโบต้าเลยขอมาแนะนำ 4 วิธีนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มอย่างถูกวิธี และปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ตามความเหมาะสมของแต่ละสภาพหน้างาน รวมถึงช่วยป้องกันความเสียหาย ทั้งเรื่องเงิน และเวลามาฝากพี่น้องเกษตรกรกันครับ

 

วิธีเตรียมความพร้อมและตรวจเช็กพื้นที่

เพื่อประเมินหน้างานก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง

1.แต่งกายให้ปลอดภัย ไม่รุ่มร่าม ไม่สวมใส่ผ้าพันคอ

2.สำรวจแปลงนา เพื่อดูว่า มีพื้นที่หล่มหรือไม่ โดยถามจากเจ้าของแปลงนา และ ขับแทรกเตอร์สำรวจรอบพื้นที่ เพื่อตรวจเช็กพื้นที่หล่มก่อนทุกครั้ง

 

4 วิธีนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่ม

1.วิธีนำแทรกเตอร์คูโบต้า ขึ้นจากหล่มโดยใช้ล็อกกันฟรี

การใช้ล็อกกันฟรี จะใช้ในกรณีที่แทรกเตอร์เริ่มติดหล่ม หรือ ล้อใดล้อหนึ่งเกิดการลื่นฟรี

วิธีนี้จะใช้ในการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มด้วยตนเอง ซึ่งวิธีการใช้ล็อกกันฟรีจะต้องมีขั้นตอนการใช้งานที่ถูกต้อง

ไม่เช่นนั้น ก็อาจส่งผลทำให้เกิดความเสียหายต่อชิ้นส่วนของเครื่องจักรได้ครับ ซึ่งขั้นตอนที่ถูกต้องมีดังนี้

1.เหยียบคลัตซ์ให้สุด

2.ใช้รอบเครื่องต่ำเท่านั้น

3.ใช้เกียร์ต่ำเท่านั้น (เกียร์หลักและเกียร์รอง)

4.เหยียบล็อคกันฟรีให้สุด

5.ตั้งพวงมาลัยให้ตรง ไม่บิดเลี้ยวระหว่างที่เหยียบล็อกกันฟรี

6.ค่อยๆปล่อยคลัตซ์ โดยขณะนั้นต้องเหยียบล็อคกันฟรีอยู่

คำเตือน ขณะที่เหยียบล็อกกันฟรีค้างไว้และแทรกเตอร์กำลังเคลื่อนอยู่ หากมีการบิดเลี้ยว จะส่งผลให้ชิ้นส่วนเสียหายทันที เช่น เฟือง เพลาล้อ เสื้อเพลาล้อ เป็นต้น

 

2.วิธีนำแทรกเตอร์คูโบต้า ขึ้นจากหล่มโดยการขุดดิน

สำหรับวิธีการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มโดย การขุดดิน วิธีการนี้ถึงจะเหนื่อย

เหมาะสำหรับสภาพหน้างานที่แทรกเตอร์ติดหล่มและจมหนัก อีกทั้งไม่สามารถนำรถคันอื่นเข้าไปลากได้

หรือในกรณีที่เหยียบล็อกกันฟรีไม่ขึ้น ก็สามารถลองวิธีการขุดดินด้านหน้าของล้อทั้ง 4 ล้อได้ครับ

ขั้นตอนในการวิธีขุดดิน

1ให้ผู้ใช้ล็อคเบรก ดับเครื่องยนต์ และดึงกุญแจออกทุกครั้ง ก่อนลงมาจากแทรกเตอร์

2.จากนั้นให้ใช้จอบขุดดิน ขุดบริเวณหน้าล้อทั้ง 4 ล้อ

3.ทดสอบโดยการขับแทรกเตอร์ขึ้น โดยใช้วิธีล็อกกันฟรีและอย่าลืมที่จะให้สัญญาณแก่กันเพื่อความปลอดภัยด้วยนะครับ

 

3.วิธีนำแทรกเตอร์คูโบต้า ขึ้นจากหล่มโดยวิธีการใช้รอก

กรณีที่ไม่มีแทรกเตอร์คันอื่น หรือแทรกเตอร์คันอื่นไม่สามารถลงมาในแปลงได้ เนื่องจากจะทำให้รถอีกคันติดหล่มไปด้วยนั้น  ผู้ใช้งานสามารถใช้รอก ในการนำแทรกเตอร์ที่ติดหล่มขึ้นได้เช่นกัน

สำหรับขั้นตอนมีดังนี้

1.ใช้รอกผูกติดกับตัวที่ติดหล่มโดยยึดที่คานใบมีดหรือกันชนหน้า และผูกกับจุดยึดที่มั่นคง เช่น ต้นไม้ หรือแทรกเตอร์อีกคัน (ยึดคานลากด้านหลัง)

2.ปลดเกียร์ให้อยู่ในตำแหน่งว่างทั้งหมด  และประครองพวงมาลัยให้อยู่ในแนวตรง

3.ให้ผู้ช่วยปฏิบัติงาน ชักรอกเพื่อนำแทรกเตอร์ขึ้นมาจากหล่ม

คำเตือน : กรณีทำงานมากกว่า 1 คนขึ้นไป ต้องให้สัญญาณในการทำงานร่วมกันเพื่อความปลอดภัยด้วยนะครับ  **

 

4.วิธีนำแทรกเตอร์คูโบต้า ขึ้นจากหล่มโดยการนำแทรกเตอร์อีกคันมาลากอย่างถูกวิธี

วิธีนี้ เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มอย่างปลอดภัย เพราะการนำแทรกเตอร์อีกคันมาลาก จะสามารถป้องกันความเสียหายได้ดี และลดระยะเวลาในการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่ม โดยแทรกเตอร์อีกคันที่นำมาลากจะต้องมีแรงม้ามากกว่ารถที่ติดหล่มด้วยนะครับ

อุปกรณ์ที่ใช้ :  Soft sling ควรตรวจสอบให้มั่นใจ ว่าอุปกรณ์ฉุดลากอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ไม่ชำรุดหรือเสียหาย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อุปกรณ์ขาด และทำให้บาดเจ็บได้ หากไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว ให้ใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะใกล้เคียง เช่น โซ่ แต่ก็ต้องเพิ่มควรระมัดระวังให้มากขึ้น โดยห้ามบุคคลอื่นเข้าใกล้บริเวณที่ฉุดลากครับ

วิธีการนำแทรกเตอร์อีกคันมาลาก มีขั้นตอนนี้

1.นำ Soft sling ผูกยึดบริเวณระหว่างแทรกเตอร์ทั้งสองคัน (กรณีดึงแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มด้านหน้า ให้ยึดที่คานใบมีดหรือกันชนหน้า และ ยึดที่คานลากของแทรกเตอร์อีกคันที่ใช้สำหรับดึงขึ้น )

2.ให้แทรกเตอร์ที่ติดหล่ม ใช้รอบเครื่องเดินเบา เกียร์ต่ำ และประครองพวงมาลัยให้อยู่ในแนวตรง

3. ให้แทรกเตอร์ที่นำมาลาก ใช้รอบเครื่องเดินเบา เกียร์ต่ำ เช่นกัน

4. ค่อย ๆ ดึง อย่าให้เกิดการกระชากจากรถที่มาลากมากเกินไป

คำเตือน : กรณีทำงานมากกว่า 1 คนขึ้นไป ต้องให้สัญญาณในการทำงานร่วมกันด้วยครับ และเมื่อเครื่องจักรทำงาน ห้ามบุคคลอื่นเข้าใกล้บริเวณที่ฉุดลาก เพื่อความปลอดภัยนะครับ

 

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 4 เทคนิคในการนำแทรกเตอร์ขึ้นจากหล่มอย่างปลอดภัย ที่ทางคูโบต้านำมาฝากกันในวันนี้ หากอยากติดตามความรู้ดี ๆ เทคนิคโดน ๆ แบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามช่องทางต่าง ๆ ของคูโบต้ากันไว้นะครับจะได้ไม่พลาดข่าวสาร สาระความรู้ดี ๆ แบบนี้ครับ

📌ติดตามเคล็ดลับดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.youtube.com/playlist?list=PLO-fRKryuxPzM4ee7tf7Gxi8glWNVm2F_