สาระความรู้
เหตุใดถึงต้องต่อภาษีแทรกเตอร์ และขั้นตอนการต่อภาษีต้องทำอย่างไร
เหตุใดถึงต้องต่อภาษีแทรกเตอร์ และขั้นตอนการต่อภาษีต้องทำอย่างไร
สวัสดีครับพี่น้องชาวเกษตรกรทุกท่าน หลายๆท่านที่เพิ่งซื้อแทรกเตอร์คูโบต้าคันแรก อาจไม่ทราบว่าแทรกเตอร์ ของเราก็ต้องมีการเสียภาษี และ พ.ร.บ. เหมือนรถยนต์เลยนะครับ หรือบางท่านที่ซื้อแทรกเตอร์มานานแล้วอาจจะลืมต่อภาษี และ พ.ร.บ. ประจำปี วันนี้ผมมีเนื้อหาดี ๆ เกี่ยวกับการต่อภาษี และ พ.ร.บ. มาให้ทุกท่านทราบกันครับ
ความสำคัญของการต่อภาษีรถ
- กฏหมายบังคับให้ทุกคนที่มีรถเอาไว้ในครอบครองต้องดำเนินการเสียภาษีประจำปี (พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522)
- ป้ายภาษีเป็นหลักฐานการแสดงต่อหน่วยงานรัฐว่าทำตามกฎหมายถูกต้อง ไม่ต้องถูกปรับ
- การต่อภาษีรถเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาความคุ้มครองจากผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.)
ผลกระทบจากการไม่ต่อภาษี
ผู้ครอบครองรถถือเป็นผู้มีหน้าที่ในการชำระค่าภาษีรถประจำปี ซึ่งหากไม่ชำระภายในกำหนด จะมีผลดังนี้
- กรณีค้างชำระภาษีรถประจำปีไม่ถึงสามปี : นายทะเบียน (ขนส่ง) มีอำนาจที่จะไม่รับดำเนินการด้านทะเบียนใด ๆ จนกว่าจะเสียภาษีที่ค้างชำระและเงินเพิ่มให้ครบถ้วน
- กรณีค้างชำระภาษีรถประจำปีติดต่อกันครบสามปี : ทะเบียนรถจะถูกระงับไป จะต้องนำคู่มือจดทะเบียนรถไปแสดงต่อนายทะเบียน เพื่อบันทึกหลักฐานการระงับทะเบียนรถภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับเล่มทะเบียน จะต้องชำระค่าภาษีที่ค้างสามปี และเงินเพิ่ม รวมถึงต้องดำเนินการขอจดทะเบียนรถใหม่ต่อไป ส่วนกรณีที่ผู้ครอบครองกระทำผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ใช้รถที่ถูกระงับทะเบียน หรือใช้รถที่ไม่แสดงเครื่องหมายเสียภาษีรถประจำปี ผู้ครอบครองจะต้องเสียค่าปรับด้วยตนเอง
ขั้นตอนการต่อภาษี
นำเล่มทะเบียน หรือ สำเนาเล่มทะเบียน และ พ.ร.บ. ไปยื่นเสียภาษีที่กรมการขนส่งทั่วประเทศ สามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ 90 วันก่อนครบอายุภาษี (สำหรับแทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว และรถขุดคูโบต้า ไม่อยู่ในข่ายต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปี)
นี่ก็เป็นความสำคัญในการต่อภาษีประจำปี เพื่อให้เราสามารถใช้งานแทรกเตอร์ของเราได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนะครับ ค่าใช้จ่ายสำหรับการต่อภาษีแทรกเตอร์ และรถเกี่ยวนวดข้าวที่ใช้ในการเกษตร ก็ไม่ได้สูงเลยครับ เพียงแค่คันละ 50 บาทต่อปีเท่านั้น (พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522) ถูกกว่าค่าอาหารบางมื้อของเราซะอีกครับ ดังนั้นพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่านอย่าลืมไปต่อภาษีให้ถูกต้องกันนะครับ สำหรับเรื่อง พ.ร.บ. เดี๋ยวผมมาอธิบายต่อในครั้งถัดไปนะครับ สำหรับครั้งนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ